คิดดีๆก่อนพิมพ์ 5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ พรบ. คอมฯ
พรบ. คอมฯ มีชื่อเรียกเต็มๆว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ปัจจุบัน เป็นฉบับที่ 2 โดยฉบับเดิม เป็นฉบับของปี 2550 นำมาปรับปรุงเนื้อหาให้ครอบคลุมขึ้น ในบทความนี้ จะยกตัวอย่างเคสออนไลน์ ดังนี้
ด่าประจานคนอื่นโพสลงเฟสบุ๊คหรือคอมเม้นท์หรือแชร์ ผิด พรบ. คอมพิวเตอร์ เรื่องการหมิ่นประมาทออนไลน์ และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาฯ โทษสูงสุดปรับ 200,000 คุกสูงสุด 5 ปี
ปัจจุบันคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตโซเชี่ยลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตผู้คนเรามากขึ้นทุกวัน ทำให้ “อาชญากรรมคอมพิวเตอร์” จึงเพิ่มมากขึ้นด้วย พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จึงถูกตราขึ้นมาเพื่อรับมือกับปัญหานี้ เพิ่มเติมนอกเหนือจาก ป.อาญา เรื่องหมิ่นประมาท

อะไรคือความผิดตามพรบ. คอมฯ มาตรา 14(1)
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ระบุว่า “ผู้ใด …. (1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าท้ังหมดหรือบางส่วน หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” การเขียนกฎหมายเช่นนี้เป็นการเปิดให้ต้องตีความอยู่มาก ทำให้ลักษณะของความผิดที่ฟ้องร้องเป็นคดีความกันด้วยมาตรา 14(1) มีความหลากหลาย ดังต่อไปนี้
ความผิดต่อระบบ เช่น การปลอมแปลงไฟล์เพื่อแฝงตัวเข้ามาทำลายระบบคอมพิวเตอร์
การหลอกลวง ฉ้อโกง เช่น การปลอมหน้าเว็บไซต์ว่าเป็นเว็บไซต์ของสถาบันการเงิน
การหมิ่นประมาท
อะไรคือสิ่งที่พรบ. คอมฯ มาตรา 14(1) มุ่งคุ้มครอง
องค์ประกอบความผิดที่สำคัญใน มาตรา 14(1) คือ “ข้อมูลความพิวเตอร์ปลอม หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” ซึ่งไม่เหมือนกับกฎหมายหมิ่นประมาทที่ไม่สนใจว่าจะเป็นความจริงหรือไม่ แม้เป็นความจริงแต่หากทำให้ผู้ถูกใส่ความเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
อีกทั้งจุดประสงค์แรกเริ่มของการออกกฎหมายมาตรานี้ ก็เพื่อป้องกันและปราบปรามการปลอมแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์ เช่น การปลอมหน้าเว็บไซต์ให้ผู้ใช้เข้าใจผิดเพื่อขโมยข้อมูลของผู้ใช้ หรือที่เรียกว่า ฟิชชิ่ง เป้าหมายของมาตรา 14(1) จึงเพื่ออุดช่องว่างของกฎหมายอาญาเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งความผิดฐานปลอมเอกสาร ในประมวลกฎหมายอาญา มีความหมายเฉพาะกระดาษหรือวัตถุอื่นใดที่มีรูปร่างและจับต้องได้เท่านั้น ยังไม่สามารถตีความให้ครอบคลุมการปลอมแปลงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้
แต่ตามสถิติกลับพบว่ามาตรา 14(1) ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับเรื่องการหมิ่นประมาทเป็นส่วนมาก ทำให้เกิดคำถามว่า การบังคับใช้มาตรา 14(1) กับการหมิ่นประมาทในโลกออนไลน์ เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์แล้วหรือไม่
ผลกระทบของการใช้ มาตรา 14(1) ในฐานความผิดหมิ่นประมาท
- เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ซ้ำซ้อน เนื่องจากความผิดฐานหมิ่นประมาทมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว แม้จะเป็นการกระทำบนอินเทอร์เน็ต ก็มีความผิดหมิ่นฐานประมาทโดยการโฆษณาอยู่แล้ว ทำให้เกิดความสับสนในการตีความการบังคับใช้กฎหมาย และทำให้คดีความรกโรงรกศาล แต่ข้อแตกต่างคือ พรบ.คอมฯต้องเป็นเรื่องที่ไม่จริงคือเท็จเท่านั้นจึงจะผิด ส่วน ป.อาญา จริงก็ผิด เท็จก็ผิด
- อัตราโทษที่สูง ความผิดตามมาตรา 14(1) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ขณะที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณามีอัตราโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อนำพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) มาใช้ฟ้องร้องในประเด็นการหมิ่นประมาทจึงทำให้จำเลยต้องแบกรับอัตราโทษที่หนักขึ้น
- ยอมความไม่ได้ คดีหมิ่นประมาทเป็นความผิดต่อส่วนตัว คดีจำนวนไม่น้อยเมื่อขึ้นสู่ชั้นศาลแล้วสามารถตกลงชดใช้ค่าเสียหาย หรือกล่าวขอโทษกัน ก็ทำให้คดีความจบกันไปได้ แต่ความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ไม่ใช่ความผิดที่ยอมความได้ แม้ผู้เสียหายกับจำเลยตกลงกันได้จนคดีหมิ่นประมาทจบลงแล้ว ความผิดตามมาตรา 14(1) ก็ยังต้องดำเนินคดีต่อไป ส่งผลกระทบต่อตัวจำเลยและทำให้คดีรกโรงรกศาลโดยไม่จำเป็น
- ไม่มีหลักเรื่องความสุจริตหรือประโยชน์สาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329-330 การหมิ่นประมาทที่กระทำไปโดยการติชมด้วยความสุจริต หรือการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ เป็นเหตุยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษได้ แต่ความผิดตามมาตรา 14(1) แม้เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ตาม ก็ไม่สามารถอ้างเหตุเหล่านี้ขึ้นต่อสู้คดีได้
- คุกคามเสรีภาพสื่อ เนื่องจากปัจจุบันมีสื่อออนไลน์เกิดขึ้นมาก แม้แต่สื่อกระแสหลักก็พัฒนาช่องทางออนไลน์ให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสื่อสาร เมื่อมีคดีความหมิ่นประมาทเกิดขึ้น มาตรา 14(1) ก็มักถูกฟ้องพ่วงเข้าไปด้วย ซึ่งเพิ่มภาระของสื่อหรือผู้ถูกกล่าวหาในการสู้คดี และปัจจุบันแนวโน้มการฟ้องร้องสื่อ ด้วยมาตรา 14(1) ก็มีสูงขึ้น กระทบต่อการบรรยากาศการใช้เสรีภาพในสังคม
จากการที่คอมพิวเตอร์และสื่อโซเชี่ยล มีบทบาทกับชีวิตและสังคมในปัจจุบัน และ มีอิทธิพลกับสังคมเป็นอย่างมาก ทั้งการโพสข้อความที่เป็นเท็จ หรือเป็นการต่อว่าพาดพิงถึงบุคคลอื่นๆ รวมทั้ง แชร์ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อผ่านสื่อโซเชี่ยลต่างๆ อาจทำให้เข้าข่ายความผิด พรบ. คอมพิวเตอร์