กฎหมายทั่วไปในชีวิตประจำวันที่คนไทยควรรู้
กฎหมายทั่วไปเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ประชาชนคนไทยทุกคนควรรู้ เพื่อรักษาผลประโยชรน์ของตนเอง หรือเป็นเครื่องมือป้องกันไม่ให้กระทำผิด ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยมีกฎหมายสำคัญที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันดังนี้
กฎหมายเกี่ยวกับตัวเอง
การแจ้งเกิด
บุคคลจะมีสิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยสภาพ เริ่มตั้งแต่เมื่อคลอดแล้วรอดอยู่เป็นทารก โดยเมื่อมีคนเกิดในบ้านหรือโรงพยาบาล ให้เจ้าบ้านหรือบิดาหรือมารดาเตรียมเอกสารต่างๆ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เป็นต้น ไปแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ ภายใน 15 วันนับแต่วันเกิด แต่ในกรณีที่เกิดที่อื่นๆ และไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนด ให้แจ้งภายหลังได้แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน ซึ่งในการแจ้งเกิดนั้นเจ้าหน้าที่จะออกใบสูติบัตรให้ผู้แจ้ง ดังนั้น ผู้แจ้งจะต้องเตรียมตั้งชื่อของเด็กไปให้เรียบร้อย เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถบันทึกลงในสูติบัตรในคราวเดียวกัน
การแจ้งการตาย
สภาพบุคคลสิ้นสุดลงเมื่อตายทางกฎหมายนั้นได้มีการรับรองการตายไว้ 2 กรณี คือ การตายโดยธรรมชาติ และตายโดยผลของกฎหมาย ซึ่งการตายโดยธรรมชาติ หมายถึง การตายตามลักษณะธรรมชาติของมนุษย์โดยถือเอาระบบหายใจหยุดทำงาน กล่าวคือ หัวใจหยุดเต้น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะป่วยตาย ถูกฆ่าตาย หรือประสบอุบัติเหตุตาย และการตายโดยผลของกฎหมาย คือ การที่กฎหมายให้ถือว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย ซึ่งในความเป็นจริงบุคคลนั้นอาจตายหรือยังไม่ตายก็ได้ การตายโดยผลของกฎหมายจะเป็นเรื่องของการสาบสูญ
เมื่อมีคนตายให้เจ้าบ้าน หรือบุคคลที่ไปกับผู้ตาย หรือผู้พบศพ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าวแจ้งการตายต่อนายทะเบียนภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากตาย แต่ถ้าหากพื้นที่ใดมีการเดินทางที่ยากลำบาก สามารถแจ้งตายได้ภายใน 7 วัน
กฎหมายเกี่ยวกับครอบครัว
การหมั้น
การหมั้น คือ สัญญาซึ่งฝ่ายชายทำกับฝ่ายหญิงว่าจะได้ทำการสมรสกัน ในการหมั้นทั้งฝ่ายชาย และหญิงต้องสมัครใจและมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์หากคู่หมั้นเป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากบิดา มารดาเสียก่อน โดยต้องมีของหมั้น คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายมอบให้แก่หญิงคู่หมั้น หากต่อมาฝ่ายใดปฏิเสธ ไม่ยอมทำการสมรส อีกฝ่ายหนึ่งสามารถเรียกค่าทดแทนได้ และหากฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายชายมีสิทธิเรียกของหมั้นคืนได้
การสมรส
การสมรส หมายถึง การที่ชายและหญิงสมัครใจเข้ามาอยู่กินฉันสามีภริยา โดยต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่จำต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ในการสมรสนั้นชายและหญิงต้องมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ ผู้เยาว์จะทำการสมรสได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดามารดา หากชายและหญิงเป็นญาติสืบสายโลหิตต่อกัน หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดามารดาเดียวกัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนวิกลจริตหรือเป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ การสมรสจะตกเป็นโมฆะ ในส่วนของทรัพย์สินระหว่างสามี ภริยามี 2 ประเภทคือ สินส่วนตัว ซึ่งอยู่ในอำนาจจัดการของผู้เป็นเจ้าของเพียงฝ่ายเดียว และสินสมรส ซึ่งจะต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อน หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามร้อยสิบวัน
การคุ้มครองบุตร
ตามกฎหมายจะถือว่าบุตรนั้นเป็นของมารดาเสมอ สามี ภรรยาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายและมีบุตรด้วยกันถือว่าบุตรนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากไม่มีการจดทะเบียนสมรสกันถือว่าบุตรที่เกิดนั้นเป็นบุตรนอกสมรส ซึ่งจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้ต่อเมื่อบิดามารดาจดทะเบียนสมรสกันภายหลัง หรือบิดาได้ให้การจดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตร
มรดก
มรดก หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่ และความรับผิดชอบต่างๆ เมื่อบุคคลได้ถึงแก่ความตาย อย่างไรก็ตามการใช้กฎหมายในเรื่องมรดกนั้นไม่ใช้กับ 4 จังหวัดภาคใต้ คือ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ในกรณีที่โจทก์และจำเลยเป็นคนอิสลาม โดยปกติแล้วทรัพย์สินทุกอย่างที่มีในขณะนั้นจะตกทอดไปยังทายาททันทีเมื่อเจ้ามรดกตาย หากผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้ผู้ใดก็จะเป็นไปตามพินัยกรรม หากผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ กฎหมายกำหนดให้มรดกตกทอดแก่ทายาท
นิติกรรม
“นิติกรรม” หมายถึง การใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อการเปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิและการกระทำที่จะผูกพันบังคับได้ตามกฎหมายนั้นจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม และคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องไม่เป็นบุคคลผู้หย่อนความสามารถ อันได้แก่ ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ และคน เสมือนไร้ความสามารถ หากบุคคลผู้หย่อนความสามารถทำนิติกรรมใดๆ จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีการให้สัตยาบัณจากผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ของ 4 บุคคลดังกล่าว
การซื้อขาย และสัญญาซื้อขาย
สัญญาซื้อขาย ได้แก่ สัญญาซึ่งผู้ขาย มอบกรรมสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของเหนือทรัพย์สินแก่ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อตกลงจะให้ราคาทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ขาย สัญญาซื้อขายมีอยู่ 2 ชนิด คือ สัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์ คือ สัญญาที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโอนไปยังผู้ซื้อทันทีอย่างเด็ดขาดเมื่อซื้อขายสำเร็จ และสัญญาจะซื้อจะขาย คือ สัญญาที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อในขณะที่ทำสัญญาซื้อขายกัน แต่เป็นสัญญาซึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อในเวลาภายหน้า เช่น ที่ดิน อาคาร เป็นต้น
สัญญาขายฝาก
สัญญาขายฝาก ได้แก่ สัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยที่มีข้อตกลงขณะซื้อขายกันว่าผู้ขายฝากสามารถซื้อหรือไถ่ทรัพย์สินกลับคืนได้ในระยะเวลาที่ตกลงกัน ถ้าเป็นการขายฝากอสังหาริมทรัพย์ต้องกำหนดเวลาใช้สิทธิไถ่คืนสูงสุดไว้ไม่เกิน 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่มีการซื้อขายฝากกัน กฎหมายระบุไว้ว่าให้กำหนดสินไถ่ได้สูงสุดไม่เกินราคาที่ขายฝากกับประโยชน์ตอบแทนไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี และถ้าตกลงกันไว้เกินกว่านั้น ผู้ขายฝากสามารถใช้สิทธิไถ่ได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี หากไม่ได้กำหนดว่าสินไถ่มีอัตราเท่าใดใ ห้ผู้ขายฝากไถ่ได้ตามราคาที่ขายฝากไว้ หากผู้ซื้อฝากไม่ยอมให้ผู้ขายฝากใช้สิทธิไถ่ ผู้ขายฝากสามารถนำเงินสินไถ่ไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์ ซึ่งกฎหมายถือว่าทำให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินกลับคืนมาเป็นของผู้ขายฝากทันที
สัญญาเช่าทรัพย์
สัญญาเช่าทรัพย์ ได้แก่ สัญญาซึ่งผู้ให้เช่าตกลงให้บุคคลซึ่งเรียกว่า ผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันจำกัด โดยผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น การเช่าทรัพย์มิได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และมีกำหนดเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ผู้ให้เช่าไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เพียงแต่มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์ก็นำทรัพย์นั้นไปให้เช่าได้ แต่ผู้เช่าทรัพย์จากผู้อื่นไว้จะนำไปให้เช่าต่อไม่ได้ เว้นแต่ว่าจะมีข้อตกลงในสัญญาเช่าอนุญาตไว้ สัญญาเช่าจะระงับลงเมื่อถึงกำหนดตามที่ตกลงกันไว้ หรือเมื่อมีการบอกเลิกสัญญาล่วงหน้าก่อนกำหนดชำระค่าเช่าที่
สัญญาเช่าซื้อ
สัญญาเช่าซื้อ คือ สัญญาซึ่งเจ้าของนำเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิของผู้เช่าเมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบตามจำนวน สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือหรือเป็นลายลักษณ์อักษร มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติดกัน และสามารถกลับเข้าครอบครองสินทรัพย์ รวมทั้งริบเงินซึ่งผู้เช่าซื้อชำระมาแล้วได้ แต่ถ้าผู้เช่าซื้อทำผิดสัญญาโดยไม่ชำระเงินงวดสุดท้าย ผู้ให้เช่าซื้อจะยึดทรัพย์สินกลับคืนและริบที่ชำระแล้วไว้ได้ต่อเมื่อเวลาผ่านไปอีกงวดหนึ่งแล้ว
สัญญากู้ยืม
สัญญากู้ยืม หมายถึง สัญญาซึ่งผู้ที่ผู้กู้ตกลงยืมเงินจำนวนหนึ่งจากผู้ให้กู้และตกลงว่าจะคืนเงินตามกำหนดที่ตกลงกันไว้ โดยผู้กู้ให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้เป็นค่าตอบแทน การกู้ยืมเงินจะมีผลต่อเมื่อมีการส่งมอบเงินให้แก่ผู้กู้และการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป โดยผู้ให้กู้จะเรียกดอกเบี้ยได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี แม้ผู้กู้จะยินยอมให้เรียกดอกเบี้ยสูงกว่านี้ก็ไม่มีผล แต่หากไม่ได้ระบุไว้ ผู้ให้กู้มีสิทธิได้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่สถาบันการเงินสามารถเรียกดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้หากผู้กู้บิดพลิ้วไม่ชำระหนี้ตามสัญญา กฎหมายกำหนดอายุความไว้ให้ต้องฟ้อง ภายใน 10 ปี นับแต่วันถึงกำหนดชำระเงินคืน