เครื่องหมายการค้า

ข้อควรรู้ ก่อนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

ปัจจุบันมีบริษัทเปิดใหม่หลายที่ และแต่ละที่ย่อมมีสิ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวของตัวเองของบริษัทนั้นๆอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการให้บริการ ชนิดของสินค้าที่มีความเฉพาะเจาะจง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทุกบริษัทมีแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด นั่นก็คือ เครื่องหมายการค้า

เครื่องหมายการค้า คืออะไร

เครื่องหมายการค้า คือ เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ หรือตรา ที่ใช้กับสินค้า หรือบริการ ซึ่งเครื่องหมายที่ให้ความคุ้มครองตาม พรบ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 และ พรบ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  1. เครื่องหมายการค้า (Trade Mark)
    คือ เครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมาย หรือเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เช่น มาม่า บรีส เป็นต้น
  2. เครื่องหมายบริการ (Service Mark)
    คือ เครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมาย หรือเกี่ยวข้องกับบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้น แจกจ่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น เช่น เครื่องหมายของสายการบิน ธนาคาร เป็นต้น
  3. เครื่องหมายรับรอง (Certification Mark)
    คือ เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรอง หรือจะใช้เป็นที่หมาย หรือเกี่ยวข้องกับสินค้า หรือบริการของบุคคอื่น เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพของสินค้า หรือบริการนั้นๆ เช่น ฮาลาล มิชลินสตาร์ เป็นต้น
  4. เครื่องหมายร่วม (Collective Mark)
    คือ เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการที่ใช้โดยบริษัท หรือรัฐวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกัน หรือโดยสมาชิกของสมาคม กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นใดของรัฐ หรือเอกชน เช่น ตราช้างของบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด เป็นต้น

สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

  1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวอื่นที่ทางราชการอกให้ (สำเนา 1 ฉบับ) กรณีผู้ขอจดทะเบียนเป็นบุคคลธรรมดา
  2. ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทาง (สำเนา 1 ฉบับ) กรณีเป็นบุคคลสัญชาติต่างประเทศ เว้นแต่จะได้ส่งเอกสารหนังสือตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ ตามข้อ 4
  3. หนังสือรับรองนิติบุคคลที่ต้องออกให้ไม่เกิน 6 เดือนนับถึงวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน (ฉบับจริง 1 ฉบับ) กรณีผู้ขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เว้นแต่ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งได้ส่งเอกสารหนังสือตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ ตามข้อ 4 โดยมีการระบุข้อความรับรองการเป็นนิติบุคคลในต่างประเทศไว้ด้วยแล้ว ไม่ต้องส่งหนังสือรับรองนิติบุคคลก็ได้
  4. หนังสือตั้งตัวแทนหรือหนังสือมอบอำนาจ และบัตรประจำตัวของตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจ (สำเนา 1 ฉบับ) ติดอาการแสตมป์ 30 บาทต่อตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจ 1 คน
  5. คำขอจดทะเบียน พร้อมติดรูปเครื่องหมายที่ขอจดทะเบียน ขนาด 5×5 เซนติเมตร (ฉบับจริง 1 ฉบับ) กรณีขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายที่มีลักษณะเป็นรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ เครื่องหมายจะต้องแสดงด้านกว้าง ด้านยาว และด้านลึก โดยจะแสดงในรูปเดียวกันหรือไม่ก็ได้
  6. คำบรรยายลักษณะกลุ่มของสี ในกรณีขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายที่มีลักษณะเป็นกลุ่มของสี (ฉบับจริง 1 ฉบับ) ให้ผู้ขอจดทะเบียนบรรยายอย่างชัดเจนว่ากลุ่มของสีที่ขอจดทะเบียนประกอบด้วยสีใดบ้าง และแต่ละสีจัดวางหรือจัดเรียงอยู่ในลักษณะใด โดยระบุในใบต่อ (แบบ ก.11)
  7. คำพรรณนารูปร่างหรือรูปทรง ในกรณีขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายที่มีลักษณะเป็นรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ (ฉบับจริง 1 ฉบับ) ผู้ขอจะมีหรือไม่ก็ได้
  8. หนังสือให้ความยินยอมของเจ้าของลายมือชื่อ (ฉบับจริง 1 ฉบับ) กรณีเครื่องหมายที่ขอจดทะเบียนเป็นลายมือชื่อ
  9. หนังสือให้ความยินยอมที่จะใช้ภาพบุคคลเป็นเครื่องหมายจากบุคคลนั้น (ฉบับจริง 1 ฉบับ) กรณีเครื่องหมายที่ขอจดทะเบียนเป็นภาพบุคคล/กรณีที่บุคคลนั้นตายแล้วต้องได้รับความยินยอมจากบุพการี ผู้สืบสันดาน และคู่สมรสของบุคคลนั้น(ถ้ามี)
  10.  บัตรประจำตัวที่ทางราชการออกให้ของผู้ให้ความยินยอม (สำเนา 1 ฉบับ) กรณีเครื่องหมายที่ขอจดทะเบียนเป็นภาพของบุคคล
  11.  ข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรอง (ฉบับจริง 1 ฉบับ) กรณีขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายรับรอง
  12.  บัญชีรายชื่อ ผู้มีสิทธิใช้ และเอกสารหลักฐานหรือคำชี้แจงที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายร่วม (ฉบับจริง 1 ฉบับ) กรณีขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายร่วม
  13.  คำขอถือสิทธิ (แบบ ก.10) พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบคำขอถือสิทธิ (ฉบับจริง 1 ฉบับ) กรณีขอใช้สิทธิย้อนหลังตามมาตรา 28 หรือ 28ทวิ/ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนไม่สามารถส่งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอใช้สิทธิย้อนหลังตามมาตรา 28 หรือ 28 ทวิ มาพร้อมกับคำขอใช้สิทธิ (แบบ ก.10) ได้ ผู้ขอสามารถขอผ่อนผันการส่งเอกสารหลักฐานดังกล่าว โดยให้ยื่นหนังสือขอผ่อนผัน (แบบ ก.19) มาพร้อมกับคำขอใช้สิทธิ(แบบ ก.10)

บทความอื่นๆ